5ส เกิดที่ญี่ปุ่น โตที่อเมริกา ตายที่ไทย

5ส เกิดที่ญี่ปุ่น โตที่อเมริกา ตายที่ไทย


“เอาล่ะ! ทุกคนวันนี้ทำ 5ส กัน” เมื่อสิ้นเสียงนี้แต่ละคนก็พากันไปหยิบไม้กวาด ผ้าเช็ดทำความสะอาด ไม้ถูพื้น คนละไม้คนละมือ ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ทำงานกันอย่างแข็งขัน แต่พอแค่สิ้นวัน ทุกอย่างก็กลับไปสู่สภาพเดิม ทำงานเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง 5ส ที่ทำงานของใครเป็นอย่างนี้บ้าง?

5ส คือ การจัดการพื้นที่ทำงานพื้นฐาน เป็นการลดความสูญเปล่าทั้ง 9 ประการ โดยนำหลักการควบคุมด้วยการมองเห็น (Visual Control) มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ความผิดปกติหรือปัญหามองเห็นได้ง่าย แล้วนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงได้อย่างรวดเร็ว 

ญี่ปุ่น ใช้ 5ส เพื่อกำจัดความสูญเปล่าออกจากพื้นที่หน้างาน และให้พนักงานได้ฝึกทำไคเซ็นด้วยตัวเอง

อเมริกา ใช้ 5ส ได้ผลดีตามหลักการ ลดต้นทุนการดำเนินงานได้จริงและเผยแพร่ใช้อย่างกว้างขวาง

ไทย ใช้ 5ส เพื่อแค่ให้ผ่านการตรวจประเมิน (Audit) พอแขก ๆ กลับกันไปก็กลับมาสภาพเดิมอีก ไม่สามารถคงสภาพตามมาตรฐานได้

5ส เป็นหลักการที่ผู้เขียนเอง ก็ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ มากกว่า 20 ปีมาแล้ว มีการจัดบอร์ดรณรงค์ 5ส ที่โรงเรียน ที่ประกอบไปด้วย Seiri (เซริ/Sort), Seiton (เซตง/Set in order), Seiso (เซโซ/Shine), Seiketsu (เซเคทซึ/Sanitary), Shitsuke (ชิทซึเคท/Sustain) ตามความหมายของแต่ละ ส ดังนี้
  1. สะสาง คือ การแยกของที่ไม่จำเป็นออก
  2. สะดวก คือ การจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ เป็นระเบียบ มีระบบใช้งานง่าย
  3. สะอาด คือ การปัด กวาด เช็ด ถู อุปกรณ์ เครื่องจักร ให้สะอาดอยู่เสมอ
  4. สุขลักษณะ คือ รักษา 3สS แรกที่ดีไว้และปรับปรุงคุณภาพในการทำงานให้ดีขึ้น
  5. สร้างนิสัย คือ รักษา 4ส ที่กำหนดไว้แล้วอย่างถูกต้องจนติดเป็นนิสัย


5ส แบบเก่า


ประเด็นสำคัญที่เราไม่สามารถทำ 5ส ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ ส ที่ 3, 4 และ 5 ที่เราแปลมาจากภาษาญี่ปุ่น คือ สะอาด, สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย รวมถึงความหมายที่ใช้ต่อ ๆ กันมาด้วยความไม่เข้าใจ

สะอาด

ไม่ใช่แค่ ปัด กวาด เช็ด ถู แต่ภายใต้การทำความสะอาดก็เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องจักรเบื้องต้นหาข้อบกพร่องหรือความเสียหายเพื่อแก้ไขก่อนเกิดปัญหาใหญ่ เป็นการบำรุงรักษาขั้นต้นด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance หรือ Jishu Hosen) รวมถึงหาสาเหตุของปัญหาแล้วทำการป้องกันที่แหล่งเกิดเหตุ

สุขลักษณะ

เมื่อถามผู้เรียนถึง ส นี้ทีไร มักได้คำตอบทำนองว่า ถูกสุขลักษณะ ทำให้สถานที่ทำงานสะอาดถูกหลักอนามัย รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง ไม่มีสัตว์และแมลงในโรงอาหารเป็นต้น เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ประมาณนี้ แต่เดี๋ยวนะ!  นี่ 5ส ไม่ใช่สาธารณสุข คำว่า สุขลักษณะ ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยนานมากแล้ว ซึ่งไม่ได้สื่อความหมายในการสร้างระบบ 5ส เลย คนได้ยินแล้วตีความผิดไป นำไปปฏิบัติไม่ได้ดังนั้น ณ ที่นี้ ขอเปลี่ยน สุขลักษณะ (Sanitary) เป็น สร้างมาตรฐาน (Standardize) เพื่อให้ตีความได้ตรงกันว่า การรักษาสภาพ 3ส แรก สามารถทำได้ด้วยการ สร้างมาตรฐานใช้ Visual Control เอกสาร OPL, Dos/Don’ts, ป้าย, สัญลักษณ์ หรืออื่น ๆ ที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าใจในความหมายเดียวกัน ปฏิบัติตามได้ไปในทางเดียวกัน

สร้างนิสัย

การสร้างนิสัย (Sustain) เพื่อให้การทำ 5ส เป็นเรื่องปกติ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน มีระบบที่ทำให้ 5 คงสภาพมาตรฐานได้อย่างยั่งยืน แต่ก่อนที่จะเป็นนิสัย จำเป็นต้องมีวินัยก่อน เพราะ 5ส ถือเป็นระบบใหม่ที่ให้ทุกคนปฏิบัติตาม ดังนั้นหัวหน้างานมีส่วนช่วยให้ทีมงานสร้างระบบ 5ส ในที่ทำงานได้อย่างมาก ด้วยการตรวจประเมิน เปรียบเทียบผลก่อน - หลัง แสดงผลลัพธ์ให้ทุกคนได้เห็นจากการทำ 5ส ของทีมงาน และทำอย่างสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นระบบที่ทุกคนเคยชิน แล้วเป็นวัฒนธรรม 5ส ได้ในที่สุด ดังนั้นก่อนเป็นนิสัยให้ สร้างวินัย (Self – Discipline) ก่อน



ภาพด้านล่างนี้ ถูกนำมาใช้ถามผู้เรียน 5ส เสมอว่า “ภาพไหนคือภาพที่ทำ 5ส แล้ว ?” ผู้เรียนทั้งหมด 100% ตอบว่า ภาพขวาจริงแท้แน่นอนไม่ต้องใช้เวลาคิดเลย เห็นชัดเจนขนาดนี้ แต่เดี๋ยวก่อน โปรดใช้วิจารณญาณในมองดูดี ๆ อีกครั้ง

ภาพก่อน - หลัง ทำ 5ส

ภาพซ้ายเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ทำ 5ส แต่ภาพขวาก็ไม่ได้ทำ 5ส เช่นกัน สิ่งที่ภาพขวาทำ มีแค่ 2 ส คือ สะสาง และสะอาด ยังไม่มีสะดวกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงสร้างมาตรฐานและสร้างวินัยเลย แต่นี่คือสิ่งที่เราเข้าใจกันว่า นี่แหละ 5ส แล้ว เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงทำ 5ส กับใครเขาไม่ได้ผลสักที

จาก 5ส แบบเก่าที่ใช้ต่อ ๆ กันมา ผู้เขียนขอปรับเป็น 5ส ฉบับใหม่ นำไปใช้ได้จริง ดังนี้
  1. สะสาง คือ การแยกของที่ไม่จำเป็นออก
  2. สะดวก คือ การจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ เป็นระเบียบ มีระบบใช้งานง่าย
  3. สะอาด คือ ทำความสะอาดเพื่อหาสาเหตุของปัญหาและตรวจสอบเครื่องมืออุปกรณ์
  4. สร้างมาตรฐาน คือ การทำมาตรฐาน 5ส ให้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายเพื่อรักษาสภาพเดิม
  5. สร้างวินัย คือ การตรวจประเมินติดตามผลและปรับปรุงมาตรฐานให้ดีขึ้น

 
5ส ฉบับปฏิบัติจริง

เมื่อทำเข้าใจหลัก 5ส อย่างถูกต้อง แล้วนำไปปฏิบัติจริงจนเกิดผล ลดความสูญเปล่าในกระบวนการทำงานได้จริง ทั้งปัญหาและความผิดปกติถูกมองเห็นได้ง่าย การปรับปรุงแก้ไขก็จะเกิดขึ้นตามมา ถ้าเป็นได้อย่างนี้แล้ว 5ส จะไม่ตายที่ไทยแน่นอนค่ะ

No comments:

Powered by Blogger.