ทำไมทำลีน แล้วไม่ลีน?




หากนำรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดในโลก โดยขนาดเท่ากับเท้าของคุณเลย นำมาให้คุณใส่เพื่อวิ่งมาราธอน คุณคิดว่าเมื่อคุณใส่รองเท้าคู่นั้นแล้ว จะวิ่งมาราธอนได้มั้ย

แน่นอนว่าคำตอบคือไม่ได้อยู่แล้ว จะผ่านมาราธอนได้ไม่ใช่แค่มีรองเท้าที่ดีเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เรียนรู้ท่าวิ่งที่ถูกต้อง แผนการฝึกซ้อมที่ดี การซ้อมให้ได้ตามแผน การผ่านระยะ Fun run, Mini marathon, และ Half marathon รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะผ่านมาราธอนให้ได้ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมสู่องค์กรลีน ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน มีแค่รองเท้าดีๆ คู่นึง ซึ่งเปรียบเสมือน เทคนิคลีน (Lean tools) เพียงแค่นำเอาเทคนิคมาประยุกต์ใช้นั้นไม่ได้ทำให้เป็นองค์กรลีนได้ แต่จำเป็นต้องมีกลไกหรือระบบที่ดีที่จะสร้างองค์กรลีนให้ยั่งยืนได้

หลายๆ ที่พยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเป็นองค์กรลีน แต่ไปได้ครึ่งๆ กลางๆ ไปไม่ถึงระดับ World class ที่หวังไว้สักที และอาจจะได้ยินคำเหล่านี้ เช่น พี่ยุ่งมากไม่ว่างเลย, ทำแค่นี้ยังไม่พออีกเหรอ, ก็ลีนแล้วนี่ไง, ลีนอีกแล้วเหรอ, เมื่อไหร่จบสักที, พี่สนับสนุนเต็มที่, เอาคนนี้ไปช่วยได้เลย, หัวหน้าผมไม่เห็นทำไรเลย, หัวหน้าไม่เห็นถามอะไรเกี่ยวกับลีนเลย, แผนกพี่มีพี่ทำอยู่คนเดียวเลย และอื่นๆ อีกมากมาย 

เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรเหล่านั้น ที่ทำลีนแล้วไม่ลีนสักที องค์กรส่วนมากเมื่อต้องการทำลีน ก็นำ 'บ้านแห่งลีน (House of Lean)' มาปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กร ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะเมื่อทำให้เมื่อนำเทคนิคลีนมาปรับปรุงประสิทธิภาพขององค์กรได้แล้ว เห็นผลลัพธ์ ก็จบโปรเจคไป ไม่สามารถสร้างเป็นองค์กรลีนที่ยั่งยืนได้เลย เมื่อพิจารณาที่บ้านแห่งลีนจะเห็นว่าบ้านเริ่มต้นจากฐาน โดยฐานของบ้าน คือ หลักการพื้นฐานของลีน ได้แก่ 5, ความปลอดภัย, การหาความสูญเปล่า เป็นต้น เสาบ้านทั้ง 2 เสา ก็แสดงถึงหลักการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT: Just in Time) และหลักการสร้างคุณภาพ (Built-in Quality) ส่วนหลังคาก็คือผลลัพธ์ที่จะได้จากการทำลีน ในบ้านทั้งหลังมีแต่เทคนิคลีน ไม่ได้กล่าวถึงวิธีคิด (Lean mindset) และระบบลีน (Lean system) ซึ่งป็นความเชื่อ หลักการ ที่ทำให้คนทั่วทั้งองค์กร คิดและทำ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืน

CR: http://leanmanufacturingtools.org/489/jidoka/

บริษัทที่เปลี่ยนแปลงสู่องค์กรลีนอย่างยั่งยืนนั้น พบว่าไม่ได้แค่นำเทคนิคลีนมาประยุกต์ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน (Process development system) แล้วได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แต่เน้นการ สร้างคน (People development system) ให้มีแนวคิดลีน (Lean Mindset) คือความสามารถในการแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมในการปรับปรุง ให้มีความเข้าใจวิธีคิดเบื้องหลังการใช้เทคนิคลีนต่างๆ ว่าทำไมถึงใช้เทคนิคนี้ บทบาทของผู้นำในการสร้างระบบและกลยุทธ์ขับเคลื่อนให้คนทั่วทั้งองค์กรสามารถปฏิบัติตามพฤติกรรมที่พึงประสงค์ (Lean paradigms) แล้วเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรลีนที่ยั่งยืน ตาม โมเดลภูเขาน้ำแข็งของลีน (Lean Iceberg Model)


โมเดลภูเขาน้ำแข็งของลีน (Lean Iceberg Model) สิ่งที่องค์กรอยากได้ คือ ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการทำลีน นั่นคือให้คนในองค์กรนำเอาเทคนิคลีนมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนา กระบวนการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนี้คือภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือผิวน้ำ (Above waterline - Visible) แต่ก่อนที่จะถึงจุดนี้องค์กรควรสร้างระบบหรือกลไกที่ขับเคลื่อนให้คนในองค์กรสามารถทำแบบนั้นได้ และส่วนนี้คือภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้ผิวน้ำ (Underwater – Enabling) เรียกง่ายๆ ก็คือ “กับดัก” เจ้ากับดักที่ว่านี้คือ Platform ที่ทำให้คนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำงานและคงปฏิบัติแบบนั้นจนทำให้เกิดวัฒนธรรมลีนที่ยั่งยืน


สร้างคน 80% ส่วนเทคนิคลีนเพียง 20%

การที่จะทำลีนแล้วให้ลีนจริงนั้น "ให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ผลลัพธ์จึงเปลี่ยน" องค์กรที่เปลี่ยนแปลงสู่เป็นองค์กรลีนได้สำเร็จนั้น พบว่าเค้ามุ่งเน้นที่การสร้างคน 80% ส่วนเทคนิคลีนนั้นเพียง 20% เท่านั้น จึงทำให้เปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นองค์กรลีนได้อย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนกับการวิ่งมาราธอน ถ้าไม่สร้างกับดักให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเสียเงินซื้อจ่ายค่าสมัครวิ่งงานต่างๆ การเข้าร่วมกลุ่มนักวิ่ง การซื้ออุปกรณ์สุดคูล แล้วจะไม่ฝึกซ้อม ไม่วางแผนให้ดี มันก็รู้สึกดาย ทั้งยังมีเพื่อนๆ The gang คอยชุดกระชาก ทั้งลากทั้งดึง สิ่งเหล่านี้ก็คือส่วนของภูเขาใต้น้ำแข็งที่คอยขับเคลื่อนให้สามารถวิ่งไปถึงระดับมาราธอนได้จริงๆ นั่นเอง

2 comments:

  1. บางครั้งการทำลีนนั้น บางคนบอกว่า ต้องเริ่มจากคนหน้างาน แต่จริงๆแล้ว ต้องเริ่มพร้อมกันทั้งคนหน้างานและผู้บริหาร หากผู้บริหารยังคงยึดติดเรื่องมีทติ้งตลอดหรือแม้นกะทั่วเนื้อหาการmeeting ต้องทำppt อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้น้อย...

    ReplyDelete
  2. ใช่ค่ะ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเริ่มจาก Top - Down แล้วขับเคลื่อนโดย Bottom - Up ถึงทำให้แปรสภาพสู่องค์กรลีนได้อย่างยั่งยืนค่ะ

    ReplyDelete

Powered by Blogger.