นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า #นิสัยแบบลีน #Leanhabit



เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลาย ๆ บริษัทที่ทำลีน หรือ ระบบการผลิตแบบโตโยต้า (TPS) ทำไม่สำเร็จเหมือนโตโยต้า? ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมลีนได้อย่างยั่งยืน? เพราะเคล็ดลับของโตโยต้าไม่ใช่ #วิธีการ แต่เป็น #วิธีคิด ค่ะ


หนังสือเรื่อง "นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า" เป็นหนังสือที่จะมาช่วยเปิดเผย 'วิธีคิด' ของคนโตโยต้า ที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่แท้จริงในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีจากญี่ปุ่น
เขียนโดย คุณ วะกะมัสสึ โยะชิฮิโตะ
ซึ่งเคยทำงานกับโตโยต้า

แบ่งแนวคิดออกเป็น 6 บทหลัก ๆ ประกอบด้วย
1. ทำให้พนักงานเติบโตขึ้น
2. การกำจัดความสูญเปล่า
3. การลดต้นทุน
4. แหล่งกำเนิดความคิดดี ๆ
5. การทำให้องค์กรเติบโต
6. การสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

ขอยกตัวอย่างแนวคิดที่ชอบในแต่ละบทดังนี้
1. นิสัยการทำให้พนักงานเติบโตขึ้น 
ด้วยการจริงจังกับพนักงานให้ปฏิบัติตามงานมาตรฐาน (SOP) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ
  1. ความเร็วในการผลิต (Takt time)
  2. ลำดับการทำงาน (Working sequence)
  3. สินค้าระหว่างการผลิตมาตรฐาน (Standard WIP)
เพื่อควบคุมประสิทธิภาพการผลิต แต่ถ้าพนักงานรู้สึกว่า "ยุ่งยากเกินไป" หรือ "ใช้ไม่ได้ผล" ก็สามารถทำ Kaizen ปรับปรุงงานมาตรฐานเพื่อทำงานได้ 'สะดวกขึ้น' 'ดีขึ้น' ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น
ดังนั้นงานมาตรฐานจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการ 'ควบคุม' พนักงานให้ทำงานตามคำสั่ง และในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือที่ 'พัฒนา' ความสามารถของพนักงานด้วย


2. นิสัยการกำจัดความสูญเปล่า 
ที่โตโยต้าจะมีลำดับในการปรับปรุง 3 มุ (3 Mu's) เริ่มจากลด มุระ (ความไม่สม่ำเสมอ) แล้วทำการลด มุริ (เกินกำลัง) สุดท้ายจึงทำการลด มุดะ (ความสูญเปล่า) ตามลำดับ ในขณะที่บริษัท ฯ จะไม่มีลำดับตายตัวในการปรับปรุง สำหรับมุระและมุริ คือ การจัดการกับความต้องการของลูกค้า และ การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้บริหาร เช่น ลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อไว้รองรับความต้องการของลูกค้าที่มีเพิ่มและไม่สม่ำเสมอ หรือการตอบสนองที่เกินความต้องการของลูกค้า จนทำให้เกิดความสูญเปล่าจากการจัดการหรือไม่จัดการกับ มุระและมุริ ขึ้นมาเอง แล้วไปมุ่งเน้นที่การกำจัด มุดะ หรือ ความสูญเปล่า ในพื้นที่การผลิตก่อน ส่งผลให้ความสูญเปล่าไม่สามารถหมดไปได้และกลายเป็นปัญหาวกวนเหมือนงูกินหางไม่รู้จบ

3. นิสัยการมุ่งเน้นการลดต้นทุน 
เพราะ ลูกค้าเป็นผู้กำหนดราคาขาย การที่จะได้กำไรนั้นมาจาก
กำไร = ราคาขาย - ต้นทุน ไม่ใช่
ราคาขาย = ต้นทุน + กำไร
ดังนั้นการที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้นจึงสามารถทำได้ด้วยการลดต้นทุนของสินค้านั้นเอง

4. นิสัยการสร้างความคิดดี ๆ
"หัวหน้าให้แก้ปัญหายาก ๆ" เมื่อทีมงานแก้ปัญหาไม่ได้ สิ่งที่เรามักจะได้ยินเสมอ คือ เหตุผลที่ทำให้แก้ไขปัญหายาก ๆ นี้ไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยทำให้แก้ปัญหาได้อยู่ดี สิ่งที่โตโยต้าทำก็คือ คิดหาวิธีการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะแก้ปัญหาได้ นั่นก็คือ "การจุดตะเกียงดีกว่าด่าความมืด"

5. นิสัยการทำให้องค์กรเติบโต ด้
"ซ่อม" ชิ้นส่วนที่เสีย แทนการ "เปลี่ยน" ชิ้นใหม่ เพราะการซ่อมคือการเปิดโอกาสให้ทีมงานได้ค้นหาสาเหตุของปัญหาที่ชิ้นงานจริง

6. นิสัยการสร้างทีมที่แข็งแกร่ง 
ด้วยการพัฒนาลูกทีมทุกคนให้มีความสามารถทัดเทียมกัน เพื่อให้ความสามารถเฉลี่ยของคนในองค์กรเพิ่มสูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับคนธรรมดา 50 คนมากกว่าคนเก่งเพียงคนเดียว
และยังมีอีกหลาย ๆ แนวคิดที่บอลคิดว่า เป็น "สุดยอด" เคล็ดลับที่หล่อหลอมจนเป็นวัฒนธรรมแห่งโตโยต้าค่ะ

Growth mindset, Growth organization



ไปติดตามอ่านต่อกันได้ในหนังสือ
นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า
ปีที่พิมพ์: 2018
สํานักพิมพ์: วีเลิร์น
ผู้แต่ง: วะกะมัสสึ โยะชิฮิโตะ

ด้วยรัก
Dr. Lean - หมอลีน

แบ่งปันการสร้างคนแบบลีน Lean Habit 

ที่เพจ Dr. Lean - หมอลีน ➡️ https://facebook.com/drleanmolean

No comments:

Powered by Blogger.